กระทรวงยุติธรรม ตั้งโต๊ะแถลงโต้ กมธ.มั่นคง ไม่มีอำนาจเรียกสอบ ทวี-อธิบดีกรมคุก ปม ทักษิณ นอนโรงพยาบาลตำรวจ ชั้น 14 ยังไม่ยืนยันว่าจะไปไหม
นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษา รมว.ยุติธรรม พร้อมด้วยนายวรชัย บุตรดาบุตร เลขานุการกรมราชทัณฑ์ นายณรงค์ หนูคง ผู้ตรวจราชการกรมราชทัณฑ์ และ น.ส.วริศรา กุญชร ณ อยุธยา ผอ.กองกฎหมาย กรมราชทัณฑ์ ร่วมกันตั้งโต๊ะแถลงชี้แจงกรณีที่ ต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร กรณีนาย ทักษิณ ชินวัตร นอนพักรักษาตัวชั้น 14 ที่โรงพยาบาลตำรวจ ว่า กระทรวงยุติธรรมอยากทำความเข้าใจกับทุกภาคส่วน เพราะเรามีหน้าที่และความรับผิดชอบที่จะให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
โดยในเรื่องของความสัมพันธ์และภาระที่ทางสภาผู้แทนราษฎรมีหนังสือเชิญให้ไปให้ถ้อยคำและข้อเท็จจริงกรณีของนายทักษิณ ชินวัตร ที่ถูกส่งตัวไปพักรักษาตัวระหว่างต้องโทษที่รพ.ตำรวจ ทุกภาคส่วนมีหน้าที่และตามกฎหมาย ตามความรับผิดชอบของฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ต้องให้ความร่วมมือในสิ่งที่ถูกต้องตามอำนาจหน้าที่ของแต่ละองค์กร
นายสมบูรณ์ กล่าวว่า ซึ่งสภาผู้แทนราษฎร โดยคณะกรรมาธิการ 2 ชุด มีการตรวจสอบเรื่องนี้มายังกระทรวงยุติธรรม ประกอบด้วย คณะกรรมาธิการตำรวจ มีหนังสือแจ้งให้กรมราชทัณฑ์ไปให้ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ตั้งแต่วันที่ 21 ธ.ค.66 ซึ่งครั้งนั้นได้มีนายสิทธิ สุธีวงศ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ (ในขณะนั้น) ยกคณะไปชี้แจงและส่งมอบเอกสาร ขณะที่ครั้งที่ 2 เป็นการดำเนินการของคณะกรรมาธิการตำรวจ นัดหมายไปดูสถานที่ รพ.ตำรวจ ถือว่าในเรื่องนี้ได้ตรวจสอบและรวบรวมข้อเท็จจริงโดยคณะกรรมาธิการตำรวจ
ต่อมาคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร มีหนังสือให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ที่เกี่ยวข้องไปชี้แจงและส่งมอบเอกสารที่เกี่ยวข้อง ครั้งแรกในวันที่ 7 พ.ย.67 จะมีผอ.ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ และคนอื่นๆ ไปชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการชุดนี้ ต่อมาคณะกรรมาธิการชุดนี้มีหนังสือเชิญให้รมว.ยุติธรรม อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และเจ้าหน้าที่อื่นที่เกี่ยวข้อง รวมกว่า 10 ราย เข้าชี้แจงต่อกมธ.ความมั่นคงฯ ในวันที่ 22 พ.ย.67 ตรงนี้ขอเรียนว่ากระทรวงยุติธรรมมีความไม่สบายใจ ทั้งที่ความจริงอยากให้ความร่วมมือเต็มที่กับคณะกรรมาธิการชุดนี้ แต่เมื่อเราพิจารณาอำนาจหน้าที่กรอบกฎหมาย ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ ข้อบังคับกฎหมายการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร ระเบียบการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร
กรมราชทัณฑ์จึงมีความเห็นว่าไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการชุดนี้ ที่จะมาตรวจสอบหรือรวบรวมเรื่องราว หรือเชิญเจ้าหน้าที่เราไป ดังนั้นเมื่อกรมราชทัณฑ์ได้รับหนังสือ จึงเสนอตามลำดับชั้นในเรื่องความเห็นที่จะเชิญไปชี้แจงในวันที่ 22 พ.ย. ทั้งผู้บริหารกรมราชทัณฑ์ โดยอธิบดีกรมราชทัณฑ์ได้ไปราชการ ทำให้รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ที่รักษาการ จึงมีหนังสือลงวันที่ 20 พ.ย.67 กราบเรียนไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎร และถึงคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ ทุกท่าน ถึงข้อกังวลในข้อกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร และระเบียบการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร
ตนได้สอบถามไปยังกรมราชทัณฑ์และขอสำเนาเอกสารมาพิจารณา จึงสรุปดังนี้ว่า สาเหตุที่กรมราชทัณฑ์ไม่เห็นพ้องด้วย โดยเห็นว่าไม่ใช่หน้าที่ของคณะกรรมาธิการชุดนี้ อันประกอบด้วย 3 ประการ คือ 1.กฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 129 วรรคสอง กำหนดให้คณะกรรมาธิการ กระทำกิจการสอบหาข้อเท็จจริงหรือศึกษาเรื่องใด ต้องเป็นเรื่องที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจตามระบุไว้ในการตั้งคณะกรรมาธิการ ซึ่งหมายความว่า คณะกรรมาธิการในสภามีหลายชุด แต่ละชุดจะมีการกำหนดกรอบอำนาจหน้าที่ไว้ ส่วนข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2529 ข้อ 90 (9) กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ ว่า คณะกรรมาธิการมีหน้าที่กระทำกิจการพิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องอันใดที่เกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ การค้าชายแดน จุดผ่านแดนถาวร จุดผ่านแดนชั่วคราว จุดผ่อนปรนเพื่อการค้า ช่องทางธรรมชาติและช่องทางตามกฏหมายศุลกากร การเดินทางข้ามแดน การจัดการและการดูแลงานข้ามแดน การส่งเสริมความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน และเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาและการพัฒนาชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ โดยเฉพาะปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคง ทั้งเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ฯ
ดังนั้น นี่คือกรอบอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการชุดนี้ ถ้าโดยสรุปคือเกี่ยวกับเรื่องความมั่นคงของประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศฯ นี่คือประการแรกที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ นอกจากนั้นเมื่อเห็นว่าไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ ดังนั้นรัฐธรรมนูญ มาตรา 129 คณะกรรมาธิการต้องทำตามกรอบในหน้าที่และอำนาจตามที่ระบุในการจัดตั้ง เพราะฉะนั้นเมื่อข้อบังคับของสภาผู้แทนฯ ข้อ 90 (9) เป็นเรื่องของคณะกรรมาธิการชุดนี้ได้กำหนดไว้ ทางกรมราชทัณฑ์จึงเห็นว่าเรื่องที่จะต้องไปให้ถ้อยคำข้อเท็จจริง จึงไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการชุดนี้
ส่วนเหตุผลที่ 2 ที่ทำหนังสือแจ้งไปยังประธานรัฐสภา และคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ คือ การทำเรื่องนี้เป็นการซ้ำซ้อนกับคณะกรรมาธิการชุดอื่นของสภาผู้แทนราษฎร เนื่องด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 129 วรรคสอง กำหนดว่า ในการกระทำกิจการของคณะกรรมาธิการ จะต้องไม่เป็นการทำซ้ำซ้อนกัน กรณีเรื่องใดที่มีความเกี่ยวข้อง ให้เป็นหน้าที่ของประธานสภาที่จะต้องดำเนินการให้กรรมการที่เกี่ยวข้องทุกชุดร่วมกันดำเนินการ ข้อบังคับการประชุมสภา ข้อ 90 วรรคสี่ และระเบียบการประชุมของสภาสภาผู้แทนราษฎร มีความชัดเจนว่าหลักเกณฑ์และวิธีการสอบหาข้อเท็จจริงและที่มีความเกี่ยวข้องกันของคณะกรรมาธิการหลายคณะ สภาผู้แทนราษฎรมีระเบียบไว้
โดยเฉพาะเลยว่าเรื่องใดเรื่องหนึ่งมันอาจเกี่ยวพันหลายคณะกรรมาธิการ ซึ่งข้อบังคับและระเบียบของการพิจารณาเรื่องซ้ำซ้อนกันนี้ ควรที่จะมีการรวมเรื่องและพิจารณาเป็นเรื่องเดียวกัน ซึ่งต้องมีคนชี้ว่าเรื่องนี้จะอยู่ในคณะชุดใด และต้องตกลงว่าใครจะเป็นประธานการประชุม
นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการตำรวจยังเคยเชิญเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ไปให้ข้อเท็จจริงเมื่อเดือน ธ.ค.66 และคณะกรรมาธิการตำรวจยังได้ไปตรวจสอบยังสถานที่จริงเมื่อเดือน ม.ค.67 ดังนั้นการกระทำของทางคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ จึงถือเป็นเรื่องซ้ำซ้อน และไม่เป็นไปตามบทบัญญัติกฎหมายรัฐธรรมนูญ ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร และระเบียบสภาผู้แทนราษฎรฯ ทั้งนี้ เมื่อกรมราชทัณฑ์เห็นว่าไม่อยู่ในอำนาจของคณะกรรมาธิการชุดนี้ หากว่ามีความเห็นเป็นที่ยุติว่าอยู่ในอำนาจของคณะกรรมาธิการชุดนี้ก็ตาม ก็ต้องรวมพิจารณาไปกับของคณะกรรมาธิการตำรวจไม่สามารถแยกได้ จึงเป็นเหตุผลหนึ่งอย่างที่ระบุไว้ในหนังสือที่ส่งไปยังประธานรัฐสภา
ส่วนประการที่ 3 ภายในหนังสือยังได้พูดถึงว่า ปัจจุบันนี้มีองค์กรอิสระ อย่างเช่น ป.ป.ช. ที่ไต่สวนรวบรวมข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ และเชิญเจ้าหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ไปให้ปากคำ มีการขอพยานเอกสารจากกรมราชทัณฑ์ อีกทั้งยังมีในส่วนของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ได้ไปดูข้อเท็จจริงและไปดูสถานที่เกิด นอกจากนี้ กสม.ได้ทำความเห็นในเรื่องนี้ไว้แล้ว กรมราชทัณฑ์จึงมีความเห็นว่ากระบวนการตามกฏหมายรัฐธรรมนูญ เมื่อตรวจสอบโดยองค์กรอิสระ ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้คุณให้โทษแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐดำเนินการอยู่แล้ว และระหว่างดำเนินการ ซึ่งเราให้ความเคารพและให้ความร่วมมือ ดังนั้นจึงอยากให้คำนึงว่าในปัจจุบันนี้ได้มีการดำเนินการตรวจสอบโดยองค์กรอิสระอยู่แล้ว
หลายคนโทรศัพท์มาสอบถามตน และบางส่วนมีการโทรศัพท์ไปสอบถาม รมว.ยุติธรรมว่าในวันที่ 22 พ.ย. ที่มีกำหนดการให้เข้าไปชี้แจงกับคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ จะยังคงเดินทางไปหรือไม่ ซึ่งตนก็ไม่ได้เรียนถามท่านรัฐมนตรีตามตรง แต่แท้จริงแล้วรัฐมนตรีให้ความสำคัญต่องานในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับสภาฯ หากมีอะไรท่านมักให้ความร่วมมือเต็มที่ และที่ตนทราบดี เพราะทำงานเป็นที่ปรึกษามาสักระยะ แต่ตนก็เข้าใจในข้อกังวลของท่านเหมือนที่เข้าใจในข้อกังวลของกรมราชทัณฑ์ ว่าขณะนี้คณะกรรมาธิการชุดดังกล่าวทำถูกต้องตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับหรือไม่ และท่านก็ยังไม่ได้ให้คำตอบกับตนว่าพรุ่งนี้ท่านจะไปหรือไม่อย่างไร แต่ในส่วนของเจ้าหน้าที่รายอื่น ของราชทัณฑ์เอง หรือรพ.ตำรวจ ขอให้เป็นดุลพินิจของเจ้าหน้าที่แต่ละราย เราไม่ได้ไปบังคับว่าต้องไปหรือไม่ไป
ส่วนประเด็นที่หลายคนสงสัยว่าหากในวันที่ 22 พ.ย.67 ไม่เข้าไปชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ จะเป็นข้ออ้างในเรื่องข้อกฎหมาย เพื่อใช้ปกปิดในประเด็นใดหรือไม่นั้น ปัจจุบันนี้หน่วยงานที่ตรวจสอบอย่างเข้มข้นก็กำลังดำเนินการอยู่คือ สำนักงาน ป.ป.ช. ที่เรียกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ไปสอบถาม ซึ่งมีรายละเอียดละเอียดยิบย่อยจำนวนมาก จึงไม่มีสิ่งใดที่เราจะปกปิดได้แน่นอน เชื่อว่าหลายหน่วยงาน ทั้งป.ป.ช. กสม. ผู้ตรวจการแผ่นดิน ฯลฯ ที่กำลังตรวจสอบและพิจารณา เราปิดบังไม่ได้ หน่วยงานอ่านเอกสารก็จะทราบว่าใครสั่งอะไร ใครทำหน้าที่อะไรบ้าง
“เราพร้อมอยู่แล้ว แต่เราเเค่กลับมาทบทวนคำนึงถึงบทบาทของคณะกรรมาธิการชุดนี้ ว่าไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ ยืนยันไม่ได้เป็นการปิดประตูการเชิญชี้แจงข้อเท็จจริงจากทางคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ เพราะมันเป็นเพียงความเห็นเบื้องต้นของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพราะเราได้ทำหนังสือท้วงติงไปแล้ว และคนที่จะชี้ได้ก็คือประธานรัฐสภาและคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ หากพิจารณาแล้วบอกว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของพวกเขาและแยกการพิจารณาออกจากคณะกรรมาธิการตำรวจ ก็เป็นดุลพินิจของท่าน ก็ให้ยืนยันมาเลยว่าทำถูกต้องแล้ว และหากประธานรัฐสภาส่งคำตอบกำหนดให้เราเข้าไปชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ เราก็พร้อมเข้าไปชี้แจง”
เมื่อถามว่าเกี่ยวกับกรณี นายรังสิมันต์ โรม เป็นประธานคณะ กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐฯ และหวาดกลัวหรือไม่ นายสมบูรณ์ กล่าวว่า ก็คงกลัวเพราะถูกตรวจสอบแต่ว่าเจ้าหน้าที่รัฐก็พร้อมชี้แจง ส่วนที่ขอเอกสารจากกระทรวงยุติธรรมและกรมราชทัณฑ์ไม่เคยได้นั้น ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ กมธ. สามารถสอบถามระดับผู้บังคับบัญชาอีกครั้งได้ ส่วนที่มองว่าอาจเอื้อประโยชน์ นายทักษิณ หรือไม่นั้น ตนมองว่าเรื่องนี้จบไปแล้ว จากนี้เป็นเรื่องการตรวจสอบข้อเท็จจริง
ส่วนค่ารักษาของ นายทักษิณ ที่โรงพยาบาลตำรวจ ชั้น 14 ที่อ้างว่าสูงถึงหลักล้านบาทนั้น ไม่สามารถตอบได้เพราะได้รับมอบหมายเพียงการชี้แจงเรื่อง กมธ.ความมั่นคงฯ เท่านั้น นอกจากนี้ ทราบว่าตัวแทนทางโรงพยาบาลตำรวจมีรายชื่อเชิญไปเช่นกันแต่ตนไม่ทราบรายละเอียด